อรัมภบท

หลังจากที่พัฒนาการสถาปัตยกรรมล้านนาได้ผ่านยุคมืดประมาณสองร้อยปีเมื่ออยู่ภายใต้อำนาจทางการเมืองของพม่า ความพยายามฟื้นบ้านฟื้นเมืองในสมัยพญากาวิละทำให้มีการซ่อมสร้าง ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมล้านนาเป็นอย่างมาก โชคดีที่ยังหลงเหลือหลักฐานทางโบราณคดี ศิลปสถาปัตยกรรมในยุคทองอยู่บ้าง และหลักฐานที่กำลังสูญหายไปของยุคต้นล้านนา การรวมล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยามพร้อมกันกับการรวมดินแดนภาคอีสาน อีสานใต้ และพื้นที่ส่วนปลายของภาคใต้ กอรปกับการปรับเปลี่ยนไปสู่ประเทศไทยภายใต้ระบอบเสรีประชาธิไตย ส่งผลให้มีการเปิดรับกระแสวัฒนธรรมจากภายนอกประเทศ การไหลบ่าของกระแสการพัฒนาแบบทุนนิยมเสรีจากฟากตะวันตก ส่งผลให้เกิดการค้าการลงทุนขนานใหญ่ เริ่มจากการถลุงทรัพยากรธรรมชาติ รูปแบบบริโภคนิยม ภายใต้อิทธิพลของการแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ส่วนตน การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจที่รวดเร็ว ส่งผลให้สังคมท้องถิ่นเปลี่ยนแปลงตามอย่างรวดเร็วเช่นกัน ศิลปวัฒนธรรมทั้งหลายสูญหายเสื่อมโทรม เพราะประชาชนท้องถิ่นให้ความสำคัญต่อการดิ้นรนในการยังชีพมาเป็นอันดับแรกมากกว่า ระบบความสัมพันธ์ของชุมชนและครอบครัวจำนวนมากมีปัญหา ระบบภูมิปัญญาของการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขและการรักษาองค์ความรู้ท้องถิ่นล้มเหลว และเกิดการอพยพของผู้คนและการสูญเสียอัตลักษณ์ชุมชนพื้นถิ่น ความพยายามในการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนยังอยู่ในแนวทางการนำทรัพยากรมาใช้ รวมทั้งการใช้สถานที่ธรรมชาติ โบราณสถาน และสถาปัตยกรรมดั้งเดิมเป็นทุน โดยยังขาดประสิทธิภาพการจัดการเพื่อการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของชุมชนสถาปัตยกรรมล้านนามีอุปสรรคด้านพัฒนาการ ระบบการถ่ายทอดภูมิปัญญาแบบดั้งเดิมถูกทำลาย ขณะที่นโยบายการศึกษาสมัยใหม่ไม่เห็นความสำคัญ ไม่เอาใสใจ่เร่งรัดการรวบรวมจัดเก็บองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมล้านนา รวมทั้งการวางแผนจัดกระบวนการวิจัย พัฒนา ถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่ทายาททางสังคมท้องถิ่นรุ่นใหม่อย่างเป็นรูปธรรม ท่ามกลางกระแสความนิยมการนำศิลปสถาปัตยกรรมล้านนามาเสพ ที่เริ่มเมื่อสี่สิบปีก่อนจนเข้มข้นเมื่อยี่สิบปีที่ผ่านมา มีการนำรูปแบบศิลปและสถาปัตยกรรมเก่ามาใช้ในบริบทใหม่ การลอกเลียนรูปลักษณ์ทางกายภาพและเน้นความรู้สึกด้านการบรรยากาศ โดยขาดภูมิความรู้ ความระมัดระวัง และการพัฒนาโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ อันจะเป็นกระบวนการทำลายมากกว่ากระบวนการพัฒนา ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าความพยายามสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมล้านนาในรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นแล้วจะไม่ประสบความสำเร็จหรือไร้ประโยชน์ เพราะภายใต้ความพยายามลองผิดลองถูกของการออกแบบก่อสร้างได้ทำให้เกิดการเรียนรู้หลายอย่าง เพียงแต่วิธีการและการพัฒนา ยังต้องอาศัยประสบการณ์และการรวบรวมองค์ความรู้ที่พัฒนาต่อช่วงและถ่ายทอด ซึ่งจะช่วยสร้างข้อสรุปและความลงตัวด้านประโยชน์ใช้สอยและสุนทรียภาพให้เกิดขึ้นภายใต้เอกลักษณ์แบบล้านนาเชิญชวนท่านทั้งหลายมาร่วมกันอนุรักษ์และพัฒนาสถาปัตยกรรมล้านนาของเราให้คงอยู่สืบไป อย่างน้อยให้หลักฐานที่คงอยู่ได้สะท้อนถึงความงดงามเยี่ยมยอดในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษล้านนา ที่สร้างสรรค์ขึ้นรับใช้ผู้คนและสังคม ซึ่งก่อร่างสานต่อกันมานับแต่โบราณ ถึงแม้นว่า อาณาจักรล้านนานั้นได้หลงเหลือแต่เพียงชื่อให้กล่าวอ้าง

หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2553

หอคำ

หอคำ เป็นสิ่งที่ออกแบบปลูกสร้างโดยช่างชำนาญในวัง (สล่าหลวง) พบว่ามีการใช้คำนี้ในสายวัฒนธรรมไทยยวน ไตลื้อ ไตขึน และไตใหญ่ เป็นต้น เป็นอาคารที่ใช้ประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัย หรือ เป็นที่ว่าการและต้อนรับแขก ของพญา กษัตริย์ และเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงในราชสำนัก เท่าที่ผู้เขียนทราบ มีหอคำโบราณที่สร้างด้วยไม้ ที่หลงเหลืออยู่ในเชียงใหม่หนึ่งแห่ง คือ วิหารวัดพันเตาในเมืองเชียงใหม่ เป็นหอคำของพระอุปราชเจ้ามโหตรประเทศ มีหอคำผู้ครองนครลำปางอีกหนึ่งหลังที่ถูกรื้อไปสร้างใหม่ที่เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ และพบมีหอคำเก่าที่เมืองเชียงรุ่ง สิบสองปันนา ที่เหลือที่มีการเรียกแต่ต่างลักษณะ เป็นหอคำที่สร้างขึ้นในช่วงเวลาไม่เกินร้อยกว่าปี ที่มีรูปแบบผสมผสานกับสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกและรัตนโกสินทร์ เช่น หอคำผู้ครองนครน่าน

หอคำสร้างด้วยไม้สักชั้นดี ยกพื้นอาคารสูงเหมือนกับเรือนและตำหนักทั่วไป เพื่อสุขะอนามัย และป้องกันสัตว์ร้ายและศัตรู หอคำของพญามหากษัตริย์ชั้นสูงจะมีขนาดใหญ่ และลดหลั่นขนาดกันลงมาตามฐานันดรศักดิ์ ใช่ว่าเชื้อพระวงศ์ทุกคนจะมีหอคำ เฉพาะผู้มีตำแหน่งสำคัญชั้นสูงเท่านั้นและต้องเป็นผู้ชาย คือ กษัตริย์ พระอุปราช และ เจ้าเมือง เป็นต้น หอคำเกี่ยวเนื่องกับอำนาจและบทบาททางการเมือง จึงมีการใช้งานเหมือนท้องพระโรงหรือที่ประชุม ปรึกษา ว่าราชการ ขณะเดียวกันเป็นที่อยู่อาศัยได้ด้วย

โครงสร้างของหอคำในภาคเหนือและที่สิบสองปันนาเท่าที่มีหลักฐาน พบว่ามีพื้นฐานของรูปแบบโครงสร้างมาจากเรือนพักอาศัย หากหอคำมีขนาดใหญ่จะใช้โครงสร้างแบบเทคนิคการถ่ายเทน้ำหนักที่เรียกว่า "ม้าต่างไหม" อันเป็นภูมิปัญญาเฉพาะด้านการก่อสร้างของชาวไตลื้อและไตยวนโบราณ หอคำที่เก่ามากๆ จะมีระนาบหลังคาจั่วเรียบง่ายไม่ซับซ้อน มีลักษณะเป็นจั่วแฝด คล้ายเรือนกาแล หอคำหลังยุคทองของล้านนาลงมา มีรูปแบบเหมือนวิหารแต่ยังมีการยกพื้นอาคารสูง วิหารวัดพันเตาในเมืองเชียงใหม่ที่เป็นหอคำเดิม เมื่อถูกนำมาถวายวัด มีการตัดเสาหอคำ และตั้งเสาบนฐานก่ออิฐสอปูน และขยับโครงสร้างผนังและหลังคา ทำให้สัดส่วนและลักษณะเป็นแปลงไป

วัดในวัฒนธรรมไตยวน ในพื้นที่ตอนล่างลุ่มน้ำโขงลงมา แต่โบราณมีส่วนประกอบสำคัญในผังเพียง เจดีย์ วิหาร และอุโบสถ โดยที่วิหารเป็นวิหารโถงไม่มีผนังปิดล้อมเหมือนปัจจุบัน อุโบสถไม่ได้มีทุกวัด และมีขนาดเล็ก ไม่ได้มีการใช้งานบ่อยเหมือนเช่นวิหาร เมื่อคนในชุมชนและเมืองมีจำนวนมากขึ้น ขนาดของอาคารต่างๆ จึงต้องขยายให้ใหญ่รองรับผู้คนได้ ศาลารายหรือศาลาบาตร จึงมีความจำเป็นและถูกสร้างขึ้นมาในสมัยหลัง ฉะนั้น หอคำและวิหารในสมัยโบราณจึงมีความแตกต่างกันที่ วิหารไม่มีผนัง ส่วนหอคำมีผนังแบบไม้ประกนที่เรียกว่า "ฝาตาผ้า" เนื่องด้วยหอคำมีการใช้งานโดยผู้คนมากกว่าและเกือบตลอดเวลา จึงต้องการความเป็นส่วนตัวและการป้องกันด้านภูมิอากาศ โดยเฉพาะฤดูหนาว การที่วิหารในสมัยหลังมีการก่อผนังโดยรอบ เพราะวิหารถูกนำมาใช้เป็นที่จำวัด จำพรรษาของภิกษุบางรูปในสมัยหลัง และเมื่อสังคมเปลี่ยนไป ความต้องการการเป็นส่วนตัว และความต้องการการป้องกันโจรโขมยของมีค่าต่างๆ ในวิหาร จึงถือเป็นความจำเป็น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น