อรัมภบท

หลังจากที่พัฒนาการสถาปัตยกรรมล้านนาได้ผ่านยุคมืดประมาณสองร้อยปีเมื่ออยู่ภายใต้อำนาจทางการเมืองของพม่า ความพยายามฟื้นบ้านฟื้นเมืองในสมัยพญากาวิละทำให้มีการซ่อมสร้าง ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมล้านนาเป็นอย่างมาก โชคดีที่ยังหลงเหลือหลักฐานทางโบราณคดี ศิลปสถาปัตยกรรมในยุคทองอยู่บ้าง และหลักฐานที่กำลังสูญหายไปของยุคต้นล้านนา การรวมล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยามพร้อมกันกับการรวมดินแดนภาคอีสาน อีสานใต้ และพื้นที่ส่วนปลายของภาคใต้ กอรปกับการปรับเปลี่ยนไปสู่ประเทศไทยภายใต้ระบอบเสรีประชาธิไตย ส่งผลให้มีการเปิดรับกระแสวัฒนธรรมจากภายนอกประเทศ การไหลบ่าของกระแสการพัฒนาแบบทุนนิยมเสรีจากฟากตะวันตก ส่งผลให้เกิดการค้าการลงทุนขนานใหญ่ เริ่มจากการถลุงทรัพยากรธรรมชาติ รูปแบบบริโภคนิยม ภายใต้อิทธิพลของการแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ส่วนตน การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจที่รวดเร็ว ส่งผลให้สังคมท้องถิ่นเปลี่ยนแปลงตามอย่างรวดเร็วเช่นกัน ศิลปวัฒนธรรมทั้งหลายสูญหายเสื่อมโทรม เพราะประชาชนท้องถิ่นให้ความสำคัญต่อการดิ้นรนในการยังชีพมาเป็นอันดับแรกมากกว่า ระบบความสัมพันธ์ของชุมชนและครอบครัวจำนวนมากมีปัญหา ระบบภูมิปัญญาของการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขและการรักษาองค์ความรู้ท้องถิ่นล้มเหลว และเกิดการอพยพของผู้คนและการสูญเสียอัตลักษณ์ชุมชนพื้นถิ่น ความพยายามในการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนยังอยู่ในแนวทางการนำทรัพยากรมาใช้ รวมทั้งการใช้สถานที่ธรรมชาติ โบราณสถาน และสถาปัตยกรรมดั้งเดิมเป็นทุน โดยยังขาดประสิทธิภาพการจัดการเพื่อการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของชุมชนสถาปัตยกรรมล้านนามีอุปสรรคด้านพัฒนาการ ระบบการถ่ายทอดภูมิปัญญาแบบดั้งเดิมถูกทำลาย ขณะที่นโยบายการศึกษาสมัยใหม่ไม่เห็นความสำคัญ ไม่เอาใสใจ่เร่งรัดการรวบรวมจัดเก็บองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมล้านนา รวมทั้งการวางแผนจัดกระบวนการวิจัย พัฒนา ถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่ทายาททางสังคมท้องถิ่นรุ่นใหม่อย่างเป็นรูปธรรม ท่ามกลางกระแสความนิยมการนำศิลปสถาปัตยกรรมล้านนามาเสพ ที่เริ่มเมื่อสี่สิบปีก่อนจนเข้มข้นเมื่อยี่สิบปีที่ผ่านมา มีการนำรูปแบบศิลปและสถาปัตยกรรมเก่ามาใช้ในบริบทใหม่ การลอกเลียนรูปลักษณ์ทางกายภาพและเน้นความรู้สึกด้านการบรรยากาศ โดยขาดภูมิความรู้ ความระมัดระวัง และการพัฒนาโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ อันจะเป็นกระบวนการทำลายมากกว่ากระบวนการพัฒนา ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าความพยายามสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมล้านนาในรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นแล้วจะไม่ประสบความสำเร็จหรือไร้ประโยชน์ เพราะภายใต้ความพยายามลองผิดลองถูกของการออกแบบก่อสร้างได้ทำให้เกิดการเรียนรู้หลายอย่าง เพียงแต่วิธีการและการพัฒนา ยังต้องอาศัยประสบการณ์และการรวบรวมองค์ความรู้ที่พัฒนาต่อช่วงและถ่ายทอด ซึ่งจะช่วยสร้างข้อสรุปและความลงตัวด้านประโยชน์ใช้สอยและสุนทรียภาพให้เกิดขึ้นภายใต้เอกลักษณ์แบบล้านนาเชิญชวนท่านทั้งหลายมาร่วมกันอนุรักษ์และพัฒนาสถาปัตยกรรมล้านนาของเราให้คงอยู่สืบไป อย่างน้อยให้หลักฐานที่คงอยู่ได้สะท้อนถึงความงดงามเยี่ยมยอดในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษล้านนา ที่สร้างสรรค์ขึ้นรับใช้ผู้คนและสังคม ซึ่งก่อร่างสานต่อกันมานับแต่โบราณ ถึงแม้นว่า อาณาจักรล้านนานั้นได้หลงเหลือแต่เพียงชื่อให้กล่าวอ้าง

หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ใจบ้าน, ใจเมือง, สะดือเมือง, เสื้อเมือง: รูปธรรมลัทธิความเชื่อผีล้านนา

ใจบ้าน, ใจเมือง, สะดือเมือง, เสื้อเมือง: รูปธรรมลัทธิความเชื่อผีล้านนา
หลักฐานที่อ้างอิงได้เก่าที่สุดจากบันทึกของตำนานและโบราณสถาน พบว่าก่อนอาณาจักรล้านนา และย้อนไปต้นอาณาจักรโยนกนาคพันธุ์ ราวปี พ.ศ.๑๔๕๔ พระมหากัสสะปะเถระและพระเจ้าอุชุราช กษัตริย์นครโยนกนาคพันธุ์ ได้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาโดยกำหนดสร้างพระธาตุดอยตุง เป็นสัญลักษณ์ ท่ามกลางไพร่ไทชาวไตโยนและพี่น้องชาวลัวะ (ละว้า) ที่ร่วมอยู่อาศัยในอาณาจักรเดียวกัน โดยได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) บรรจุในพระเจดีย์ธาตุบนดอยตุง ไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานที่มีการสร้างพระธาตุที่เก่าแก่กว่านี้ ในสมัยนั้นลัทธิความเชื่อผียังเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ทั้งลัทธิความเชื่อผีของชาวลัวะพื้นถิ่นเดิม และลัทธิความเชื่อผีของชาวไตโยนการศึกษาในลัทธิความเชื่อผีของชาวลัวะและชาวล้านนาในสมัยหลัง เป็นหลักฐานอันดีที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาความเชื่อที่รักษาวัฒนธรรมประเพณีของสังคมท้องถิ่นไว้ได้เป็นอย่างดี ชาวลัวะมีความเชื่อเรือ่งผีน้อยใหญ่ ผีใหญ่ที่สุดที่เซ่นไหว้ มีหลักฐานปัจจุบันที่ยังหลงเหลือ คือ การเลี้ยงผี "สะไปว์ตะยวง" ซึ่งจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าในหมู่บ้านชาวลัวะแถบแม่แจ่มและแม่ลาน้อยกล่าวว่า เป็นประเพณีดั้งเดิมที่จะจัดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนผู้นำ และเชื่อกันว่า การเลี้ยงผีใหญ่นี้จะทำให้ชาวบ้านอยู่ร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และผีที่พวกเขานับถือจะคุ้มครองให้ปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ โดยจุดทำพิธีจะอยู่ที่ศาลผีซึ่งมีเสาสะกัง หรือเสาสักการะที่ลานด้านหน้าหรือใจกลางหมู่บ้าน เสาสะกังเป็นเอกลักษณ์ประจำผู้นำหมู่บ้าน หนึ่งต้นต่อหนึ่งผู้นำ มีการแกะสลักลำต้นไม้ที่นำมาทำเสาอย่างพิเศษสวยงาม แตกต่างกันไปตามแต่ละหมู่บ้าน ในสมัยก่อนตั้งเมืองเชียงใหม่นั้น พื้นที่เดิมเป็นเมืองนพบุรีของชาวลัวะ ๙ หมู่บ้าน การสร้างเมืองเชียงใหม่ของพญามังราย ได้มีกุศโลบายรวมเสาทั้งหมดเข้าสู่จุดศูนย์กลางเมืองเชียงใหม่ เรียกว่า "เสาอินทขิล" เป็นคติการสร้างที่หมายเมือง (land mark) ที่สอดคล้องกับคติการสร้างเมืองของไตโยนแห่งโยกนาคนครเดิม ที่กำหนดศูนย์กลางเมืองเป็นสะดือเมือง พัฒนาการของคติเช่นนี้ได้ปรากฏขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และส่งผลพลังที่ยิ่งใหญ่ทางนามธรรมต่อจิตใจของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองเชียงใหม่ให้มีศูนย์รวมจิตใจและเสริมสร้างความสามัคคี นับแต่เมื่อแรกสร้างเมืองคติการปักเสาศักดิ์สิทธิ์กลางหมู่บ้านเพื่อการสักการะนี้ มีพัฒนามาเนิ่นนานเกินกว่า ๒,๐๐๐ ปีที่แล้ว ชนชาติไตทางตอนเหนือของดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ และแถบลุ่มน้ำโขงที่อยู่สูงขึ้นไป รวมทั้งชาวลัวะบนเขาในพื้นที่ใกล้เคียง ต่างมีเสาสักการะกลางหมู่บ้านเช่นกัน แต่แตกต่างทางวัฒนธรรมและอยู่อาศัยคนละแห่งไม่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน จวบจนยุคสมัยการแผ่อิทธิพลของกุบไลข่านจากมองโกลลงมายังดินแดนตอนใต้ของประเทศจีนปัจจุบัน อันเป็นที่อยู่อาศัยของชาวไต เผ่าต่างๆ นำโดยไตลื้อ ไตยวน ไตใหญ่ ชาวลัวะ และชาวเขาบางเผ่า รวมพลังต่อต้านการรุกรานของกุบไลข่านผู้กระหายอำนาจในเวลานั้นจนสำเร็จ ทำให้เริ่มมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน มีการช่วยเหลือกัน แม้แต่ในช่วงระยะเวลาก่อนหน้านั้นที่มีการขับไล่กรอม (ขอม) ออกไปจากดินแดนลุ่มแม่น้ำโขง ก็ได้อาศัยความร่วมมือร่วมใจของชาวไตลื้อ ไตโยน ลัวะ และอาจรวมถึงชาวข่าเผ่าต่างๆ ทำให้วงศ์ลาว (ราชวงศ์ลวจังกราช) ได้เกิดขึ้น ได้เชื่อมต่อพัฒนาการของราชวงศ์สิงหนวัตที่สัมพันธ์กับชาวไตโบราณทางตอนเหนือมาสร้างดินแดนใหม่ลุ่มน้ำโขง ณ เมืองสุวรรณโคมคำ สืบต่อถึงการตั้งแคว้นหิรัญนครเงินยวง (หิรัญนครเงินยาง) อันเป็นแคว้นที่ประสูติของพญามังรายมหาราช ขณะเดียวกันลูกหลานไตต้นราชวงศ์ลาวก็ได้แผ่ขยายไปในดินแดนชวา (ภายหลังคือหลวงพระบาง) จนมีการรวบรวมผู้คนและแว่นแคว้นขึ้นในลุ่มน้ำโขง น้ำคาน และน้ำอู โดยพระเจ้าฟ้างุ้ม ก่อตั้งอาณาจักรล้านช้าง ณ ดินแดนริมน้ำโขง มีหลวงพระบางเป็นราชธานี เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๙๖ – ๑๙๖๑ โดยการสนับสนุนของกษัตริย์ขอมผู้เป็นพ่อตา หลังจากนั้นจึงเริ่มรับเอาพุทธศาสนาเข้ามาแทนการนับถือผีชาวไตโบราณหลายเผ่าในยูนนาน โดยเฉพาะชาวไตใหญ่ และ ไตลื้อที่เป็นบรรพบุรุษสาขาใหญ่ของชาวไตลุ่มแม่น้ำโขงและของชาวไตโยน ได้มีลัทธิความเชื่อผีมาก่อนแล้ว ในหมู่บ้านมีข่วงใจบ้าน หมายสัญลักษณ์ไว้ด้วยหินหรือเสาไม้เนื้อแข็ง อันเป็นที่สิงสถิตของเหล่าอาฮักษ์บรรพุรุษ คติการสร้างใจบ้านและใจเมืองจึงมีมานานเนิ่นแล้ว แม้ปัจจุบันก็ยังสามารถพบหลักฐานของเสาใจบ้านใจเมืองเหล่านั้นได้ทั้งในเขตยูนนาน ในเขตรัฐฉาน ในอัสสัม ในล้านนา ในเวียดนามแถบลุ่มแม่น้ำดำแม่น้ำแดง และในลาว แต่ในลาวและเวียดนามอาจพบว่ามีการสูญหายไปมากเนื่องด้วยผลกระทบทางด้านการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองคำว่า "สะดือเมือง" ได้ปรากฏมีในตำนานต่างๆ ในล้านนา ที่กล่าวถึงหลักฐานเก่าที่สุดที่บันทึกกล่าวถึงการหมายกลางเมืองด้วยการกำหนดเอาต้นเงินยวงในเมืองเงินยวงเป็นศูนย์กลางเมืองใหม่ ภายหลังจากการล่มของเวียงโยนกนาคพันธ์ จวบจนเมื่อมีการสร้างเมืองใหม่ที่สำคัญในสมัยพญามังราย ได้แก่เมืองเชียงราย เมืองไชยปราการ เมืองพร้าว เป็นต้น พบว่าได้มีการกล่าวถึงการกำหนดสะดือเมือง และใจเมือง ด้วยการหมายตำแหน่งบนยอดดอย และการปลูกหรือยึดตำแหน่งต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ หรือปักเสาสักการะ เป็นเสื้อเมือง คตินี้เป็นแบบอย่างของคติชาวไตลื้อ ไตโยน และไตหลายเผ่า พบเห็นได้ทั่วไปทั้งในระดับหมู่บ้านเล็กๆ จนถึงระดับเมือง เช่น หมู่บ้านไตลื้อในสิบสองปันนา หมู่บ้านไตเขินในเชียงตุง หมู่บ้านไตโยนในเชียงใหม่ เป็นต้น ส่วนระดับเมืองได้แก่ เมืองเชียงตุง เมืองเชียงรุ่ง เมืองเชียงทอง (หลวงพระบาง) เมืองเชียงใหม่ เป็นต้นคติความเชื่อว่าเมืองเหมือนมนุษย์ของชาวล้านนา ทำให้เมืองมี หัวเมือง ใจเมือง สะดือเมือง ตีนเมือง ที่สัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องทิศ นักวิชาการจำนวนมากลงความเห็นว่า ลัทธิพราหมณ์-ฮินดู ที่มีอิทธิพลต่อชาวลัวะพื้นถิ่นในช่วงสมัยหริภุญชัยและก่อนหน้านั้น มีบทบาทต่อความเชื่อดังกล่าว สันนิษฐานว่าได้รับมาจากคติการสร้างเมืองของทวาราวดีและขอมโบราณที่รับมาจากอินเดียอีกต่อหนึ่ง หลังจากการเกิดขึ้นของอาณาจักรล้านนา เมื่อพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองถึงยุคทองของล้านนา ได้มีการเสริมคติทางศาสนาพุทธด้านการเสริมศิริมงคลให้แก่เมือง โดยกำหนดทักษาเมืองขึ้นในเมืองสำคัญของล้านนา ภายหลังเมื่อล้านนาเสื่อมลง ลัทธิความเชื่อผี รวมทั้งคติการสร้างเมืองและรักษาเมืองได้เสื่อมลงตาม ปัจจุบันมีการปฏิบัติหลายสิ่งที่ขัดต่อจารีตประเพณีดั้งเดิมเป็นอันมาก เป็นที่กล่าวขวัญกันของชาวล้านนาผู้อาวุโสที่เชื่อว่านำมาซึ่งความอัปมงคลหรือที่เรียกว่า "ขึดบ้านขึดเมือง" เช่น การเผาผีในเมือง เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น