อรัมภบท

หลังจากที่พัฒนาการสถาปัตยกรรมล้านนาได้ผ่านยุคมืดประมาณสองร้อยปีเมื่ออยู่ภายใต้อำนาจทางการเมืองของพม่า ความพยายามฟื้นบ้านฟื้นเมืองในสมัยพญากาวิละทำให้มีการซ่อมสร้าง ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมล้านนาเป็นอย่างมาก โชคดีที่ยังหลงเหลือหลักฐานทางโบราณคดี ศิลปสถาปัตยกรรมในยุคทองอยู่บ้าง และหลักฐานที่กำลังสูญหายไปของยุคต้นล้านนา การรวมล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยามพร้อมกันกับการรวมดินแดนภาคอีสาน อีสานใต้ และพื้นที่ส่วนปลายของภาคใต้ กอรปกับการปรับเปลี่ยนไปสู่ประเทศไทยภายใต้ระบอบเสรีประชาธิไตย ส่งผลให้มีการเปิดรับกระแสวัฒนธรรมจากภายนอกประเทศ การไหลบ่าของกระแสการพัฒนาแบบทุนนิยมเสรีจากฟากตะวันตก ส่งผลให้เกิดการค้าการลงทุนขนานใหญ่ เริ่มจากการถลุงทรัพยากรธรรมชาติ รูปแบบบริโภคนิยม ภายใต้อิทธิพลของการแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ส่วนตน การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจที่รวดเร็ว ส่งผลให้สังคมท้องถิ่นเปลี่ยนแปลงตามอย่างรวดเร็วเช่นกัน ศิลปวัฒนธรรมทั้งหลายสูญหายเสื่อมโทรม เพราะประชาชนท้องถิ่นให้ความสำคัญต่อการดิ้นรนในการยังชีพมาเป็นอันดับแรกมากกว่า ระบบความสัมพันธ์ของชุมชนและครอบครัวจำนวนมากมีปัญหา ระบบภูมิปัญญาของการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขและการรักษาองค์ความรู้ท้องถิ่นล้มเหลว และเกิดการอพยพของผู้คนและการสูญเสียอัตลักษณ์ชุมชนพื้นถิ่น ความพยายามในการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนยังอยู่ในแนวทางการนำทรัพยากรมาใช้ รวมทั้งการใช้สถานที่ธรรมชาติ โบราณสถาน และสถาปัตยกรรมดั้งเดิมเป็นทุน โดยยังขาดประสิทธิภาพการจัดการเพื่อการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของชุมชนสถาปัตยกรรมล้านนามีอุปสรรคด้านพัฒนาการ ระบบการถ่ายทอดภูมิปัญญาแบบดั้งเดิมถูกทำลาย ขณะที่นโยบายการศึกษาสมัยใหม่ไม่เห็นความสำคัญ ไม่เอาใสใจ่เร่งรัดการรวบรวมจัดเก็บองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมล้านนา รวมทั้งการวางแผนจัดกระบวนการวิจัย พัฒนา ถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่ทายาททางสังคมท้องถิ่นรุ่นใหม่อย่างเป็นรูปธรรม ท่ามกลางกระแสความนิยมการนำศิลปสถาปัตยกรรมล้านนามาเสพ ที่เริ่มเมื่อสี่สิบปีก่อนจนเข้มข้นเมื่อยี่สิบปีที่ผ่านมา มีการนำรูปแบบศิลปและสถาปัตยกรรมเก่ามาใช้ในบริบทใหม่ การลอกเลียนรูปลักษณ์ทางกายภาพและเน้นความรู้สึกด้านการบรรยากาศ โดยขาดภูมิความรู้ ความระมัดระวัง และการพัฒนาโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ อันจะเป็นกระบวนการทำลายมากกว่ากระบวนการพัฒนา ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าความพยายามสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมล้านนาในรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นแล้วจะไม่ประสบความสำเร็จหรือไร้ประโยชน์ เพราะภายใต้ความพยายามลองผิดลองถูกของการออกแบบก่อสร้างได้ทำให้เกิดการเรียนรู้หลายอย่าง เพียงแต่วิธีการและการพัฒนา ยังต้องอาศัยประสบการณ์และการรวบรวมองค์ความรู้ที่พัฒนาต่อช่วงและถ่ายทอด ซึ่งจะช่วยสร้างข้อสรุปและความลงตัวด้านประโยชน์ใช้สอยและสุนทรียภาพให้เกิดขึ้นภายใต้เอกลักษณ์แบบล้านนาเชิญชวนท่านทั้งหลายมาร่วมกันอนุรักษ์และพัฒนาสถาปัตยกรรมล้านนาของเราให้คงอยู่สืบไป อย่างน้อยให้หลักฐานที่คงอยู่ได้สะท้อนถึงความงดงามเยี่ยมยอดในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษล้านนา ที่สร้างสรรค์ขึ้นรับใช้ผู้คนและสังคม ซึ่งก่อร่างสานต่อกันมานับแต่โบราณ ถึงแม้นว่า อาณาจักรล้านนานั้นได้หลงเหลือแต่เพียงชื่อให้กล่าวอ้าง

หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2553

พัฒนาการสถาปัตยกรรมล้านนา (ตอน ๑)

พัฒนาการสถาปัตยกรรมล้านนา (ตอน ๑)
เรื่องราวทางสถาปัตยกรรมของล้านนา มีพัฒนาการเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของบริบททางประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ของชนชาติไท ซึ่งมีมานานหลายพันปี ชาวไตยวนเป็นชาติพันธุ์หลักในล้านนาที่สืบสานวัฒนธรรมสืบเนื่องกับวัฒนธรรมไทเดิมในยูนนาน เช่นเดียวกับชาวไตใหญ่ ชาวไตลื้อและไตกลุ่มกลุ่มต่างๆ ซึ่งนักวิชาการไทยและจีนบางส่วนสันนิษฐานกันตามหลักฐานทางโบราณคดีอันเก่าแก่ ด้านการตั้งที่อยู่อาศัยบนแอ่งที่ราบติดแม่น้ำแยงซีเกียง สร้างเรือนยกพื้นสูง การใช้เครื่องปั้นดินเผาก้นมนและแบบมีฐานสามเส้า และเครื่องใช้สัมฤทธิ์ เป็นต้น ซึ่งเป็นหลักฐานทางวัฒนธรรมชาวปาโบราณ ก่อนที่ราชวงศ์ฉินของจีนจะมารุกราน พงศาวดารจีนมีหลักฐานการกล่าวถึงชนชาติที่อยู่บริเวณแถบต้นลุ่มน้ำแยงซีเกียง และกล่าวถึงชาวไป๋ (ปาไป๋ซีฟู่) ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่ในปัจจุบันได้ลงความเห็นว่าเป็นต้นตระกูลของคนไท เพราะรูปลักษณะสันฐาน วิถีชีวิตความเป็นอยู่ รูปแบบที่อยู่อาศัย เครื่องใช้ไม้สอย ยังสอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทอยู่ในปัจจุบัน หลักฐานที่เห็นได้ชัดได้แก่ กลองมโหระทึกสำริด การแต่งกายของคนและสิ่งปลูกสร้างที่ปรากฏอยู่บนเครื่องสำริด และวัฒนธรรมการกินข้าวเหนียวหลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวกับรูปแบบการอยู่อาศัยเก่าแก่ที่สุดขุดพบอิฐโบราณ มีการแกะสลักรูปบ้านเรือนยกใต้ถุนสูง มีชานเรือน และมีหลังคาเรือนมุงด้วยหญ้าหรือใบไม้แห้ง มีการใช้วัวและม้าเทียมเกวียน อิฐโบราณนั้นมีอายุมากกว่า ๑,๕๐๐ ปี เช่นเดียวกันกับกลองมโหระทึกที่มีประติมากรรมสิ่งก่อสร้างที่อยู่อาศัยยกพื้นสูง และเรือบนกลองสำริด ตามหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดีของจีนก็พบหลักฐานการขุดฝังเสาเรือนลงไปในดินของกลุ่มชาวปา ชาวไป๋ ทุกวันนี้ชาติพันธุ์ที่มีเชื้อสายเกี่ยวโยงกับชาวปา ชาวไป๋โบราณ ได้มีจำนวนมากในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแยงซีเกียง ไล่ลงมาทางทิศใต้ของยูนนาน เชื่อมต่อไปยังกวางสีและกวางตุ้ง ซึ่งมีชนเผ่าทางตอนใต้ประเทศจีนที่มีวัฒนธรรมไทจำนวนมาก เช่น เผ่าจ้วง และแน่นอนที่เห็นได้ชัดคือทางตอนเหนือของเวียตนาม ลาว ไทย พม่า และอินเดีย เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของคนไทอย่างปฏิเสธไม่ได้เรือนอยู่อาศัยเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดในการดำรงชีพ พบว่าเรือนชาวไทเผ่าต่างๆ สร้างด้วยระบบเสาคานไม้เนื้อแข็ง หรือไม้ไผ่ ยกพื้นสูง มีชานแดด ชานร่ม ห้องในเรือนเป็นห้องนอนเป็นหลัก ซึ่งแต่โบราณสมาชิกในครอบครัวใช้ที่ว่างในห้องนอนร่วมกัน อาจมีการกั้นด้วยผ้าเกิ้ง (ม่าน) ไม่มีการทำห้องนอนหลายห้อง โครงสร้างเรือนส่วนใหญ่เป็นไม้ไผ่ ไม่ว่าจะเป็น เสา คาน ตง ผนัง นิยมใช้หญ้าคามุ่งหลังคาเรือน ใต้ถุนเรือนใช้เก็บเครื่องใช้กสิกรรม เลี้ยงไก่เลี้ยงหมูบ้าง นิยมนั่งพักผ่อนหรือทำงานบนชานหรือชานร่ม (เติ๋น)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น