อรัมภบท

หลังจากที่พัฒนาการสถาปัตยกรรมล้านนาได้ผ่านยุคมืดประมาณสองร้อยปีเมื่ออยู่ภายใต้อำนาจทางการเมืองของพม่า ความพยายามฟื้นบ้านฟื้นเมืองในสมัยพญากาวิละทำให้มีการซ่อมสร้าง ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมล้านนาเป็นอย่างมาก โชคดีที่ยังหลงเหลือหลักฐานทางโบราณคดี ศิลปสถาปัตยกรรมในยุคทองอยู่บ้าง และหลักฐานที่กำลังสูญหายไปของยุคต้นล้านนา การรวมล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยามพร้อมกันกับการรวมดินแดนภาคอีสาน อีสานใต้ และพื้นที่ส่วนปลายของภาคใต้ กอรปกับการปรับเปลี่ยนไปสู่ประเทศไทยภายใต้ระบอบเสรีประชาธิไตย ส่งผลให้มีการเปิดรับกระแสวัฒนธรรมจากภายนอกประเทศ การไหลบ่าของกระแสการพัฒนาแบบทุนนิยมเสรีจากฟากตะวันตก ส่งผลให้เกิดการค้าการลงทุนขนานใหญ่ เริ่มจากการถลุงทรัพยากรธรรมชาติ รูปแบบบริโภคนิยม ภายใต้อิทธิพลของการแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ส่วนตน การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจที่รวดเร็ว ส่งผลให้สังคมท้องถิ่นเปลี่ยนแปลงตามอย่างรวดเร็วเช่นกัน ศิลปวัฒนธรรมทั้งหลายสูญหายเสื่อมโทรม เพราะประชาชนท้องถิ่นให้ความสำคัญต่อการดิ้นรนในการยังชีพมาเป็นอันดับแรกมากกว่า ระบบความสัมพันธ์ของชุมชนและครอบครัวจำนวนมากมีปัญหา ระบบภูมิปัญญาของการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขและการรักษาองค์ความรู้ท้องถิ่นล้มเหลว และเกิดการอพยพของผู้คนและการสูญเสียอัตลักษณ์ชุมชนพื้นถิ่น ความพยายามในการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนยังอยู่ในแนวทางการนำทรัพยากรมาใช้ รวมทั้งการใช้สถานที่ธรรมชาติ โบราณสถาน และสถาปัตยกรรมดั้งเดิมเป็นทุน โดยยังขาดประสิทธิภาพการจัดการเพื่อการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของชุมชนสถาปัตยกรรมล้านนามีอุปสรรคด้านพัฒนาการ ระบบการถ่ายทอดภูมิปัญญาแบบดั้งเดิมถูกทำลาย ขณะที่นโยบายการศึกษาสมัยใหม่ไม่เห็นความสำคัญ ไม่เอาใสใจ่เร่งรัดการรวบรวมจัดเก็บองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมล้านนา รวมทั้งการวางแผนจัดกระบวนการวิจัย พัฒนา ถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่ทายาททางสังคมท้องถิ่นรุ่นใหม่อย่างเป็นรูปธรรม ท่ามกลางกระแสความนิยมการนำศิลปสถาปัตยกรรมล้านนามาเสพ ที่เริ่มเมื่อสี่สิบปีก่อนจนเข้มข้นเมื่อยี่สิบปีที่ผ่านมา มีการนำรูปแบบศิลปและสถาปัตยกรรมเก่ามาใช้ในบริบทใหม่ การลอกเลียนรูปลักษณ์ทางกายภาพและเน้นความรู้สึกด้านการบรรยากาศ โดยขาดภูมิความรู้ ความระมัดระวัง และการพัฒนาโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ อันจะเป็นกระบวนการทำลายมากกว่ากระบวนการพัฒนา ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าความพยายามสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมล้านนาในรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นแล้วจะไม่ประสบความสำเร็จหรือไร้ประโยชน์ เพราะภายใต้ความพยายามลองผิดลองถูกของการออกแบบก่อสร้างได้ทำให้เกิดการเรียนรู้หลายอย่าง เพียงแต่วิธีการและการพัฒนา ยังต้องอาศัยประสบการณ์และการรวบรวมองค์ความรู้ที่พัฒนาต่อช่วงและถ่ายทอด ซึ่งจะช่วยสร้างข้อสรุปและความลงตัวด้านประโยชน์ใช้สอยและสุนทรียภาพให้เกิดขึ้นภายใต้เอกลักษณ์แบบล้านนาเชิญชวนท่านทั้งหลายมาร่วมกันอนุรักษ์และพัฒนาสถาปัตยกรรมล้านนาของเราให้คงอยู่สืบไป อย่างน้อยให้หลักฐานที่คงอยู่ได้สะท้อนถึงความงดงามเยี่ยมยอดในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษล้านนา ที่สร้างสรรค์ขึ้นรับใช้ผู้คนและสังคม ซึ่งก่อร่างสานต่อกันมานับแต่โบราณ ถึงแม้นว่า อาณาจักรล้านนานั้นได้หลงเหลือแต่เพียงชื่อให้กล่าวอ้าง

หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ตูบ

ตูบ
เรือนเครื่องผูกภาคเหนือ ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า "ตูบ" หมายถึง เรือนที่สร้างขึ้นด้วยไม้บั่ว (ไม้ไผ่) เป็นหลัก ใช้ไม้ไผ่หลายชนิด เช่น ไม้ซาง ไม้ฮวก (รวก) ไม้ตง โครงสร้างเสาเป็นลำไม้ไผ่ หรือไม้เนื้อแข็ง พื้นเป็นไม้ฟากหรือลำไม้ไผ่ทุบเป็นฟาก ฝาทำด้วยไม้ไผ่ขัดแตะ เป็นลายสอง ลายสาม หรือใช้แผงไม้ซางสานเป็นลายต่างๆ เช่น ลายอำ บ้างก็ใช้ฟากทำเป็นผนังก็มี หลังคาสร้างด้วยโครงไม้ไผ่ โดยการยึดโครงสร้างต่างๆ ใช้วิธีเจาะรูและฝังเดือย ประกอบกับการผูกด้วยดอกหรือหวาย หลังคามุงด้วยหญ้าคาหรือใบตองตึง บางแห่งอาจพบว่าใช้ใบคล้อมุง ในตูบมีห้องนอนเดียว โบราณมีการใช้เตาไฟในห้องนอน แต่หลักฐานที่พบในปัจจุบันไม่เกิน ๘๐ ปีที่ผ่านมา มีชานด้านข้างห้องนอนเชื่อมไปยังบริเวณครัวไฟด้านหลังเรือน ไม่ปรากฏมีการทำเตาไฟในห้องนอน สมาชิกของครอบครัวบางครอบครัวอาศัยนอนในห้องนอนเดียวกัน ซึ่งได้แก่พ่อ (เจ้าบ้าน) แม ลูกสาว อุ๊ย (ปู่ บ่า ตา หรือ ยาย) ลูกชายถ้าเริ่มเป็นวัยรุ่น นิยมย้ายไปนอนหน้าห้องนอนที่เป็นพื้นที่ที่เรียกว่า "เติ๋น" เพื่อความเป็นส่วนตัว ตูบไม่มีห้องส้วมหรือห้องน้ำในเรือน คนล้านนาโบราณใช้ชายทุ่งชายป่าเป็นแหล่งขุดหลุมส้วม ภายหลังประมาณ ๖๐ ปีที่ผ่านมามีการสร้างตูบส้วม จนพัฒนามาเป็นตูบส้วมซึม เรือนตูบบางหลังสร้างเรือนครัวแยกออกมาใกล้ๆ ตูบ ด้วยโครงสร้างลักษณะเดียวกันกับตูบแต่เล็กและซับซ้อนน้อยกว่าปัจจุบันไม่ค่อยพบเห็นตูบ คนรุ่นใหม่มองว่าเป็นที่อยู่อาศัยของคนยากจน ส่วนมากที่พอหลงเหลือให้เห็นเป็นการสร้างเถียงนา (ห้างนา) สำหรับไว้เฝ้านา หรือสร้างเป็นร้านค้าบางอย่าง เช่น ร้านเหล้าตอง ร้านขายอาหารพื้นเมือง ร้านขายผักไม้ต่างๆ ตามซอกซอยในหมู่บ้านหรือในกาดก้อม (ตลาดเล็กๆ) กาดงัว (ตลาดนัด) เป็นต้น โบราณนิยมสร้างเป็นเรือนหอชั่วคราวสำหรับการสร้างครอบครัวใหม่ของหนุ่มสาวเวลาออกเรือน ซึ่งสร้างอยู่ในบริเวณบ้านของผู้ปกครองฝ่ายเจ้าสาว เพื่อการติดตามดูพฤติกรรมการครองเรือนที่เหมาะสมของลูกเขยกับลูกสาว ภายหลังเมื่อมีความพร้อมจึงสร้างเรือนหลังใหม่ที่ถาวรขึ้นแทน ตูบนับว่าเป็นเรือนพักอาศัยพื้นฐานของประชาชนทั่วไปนับแต่โบราณกาลก่อนสมัยล้านนา เรือนไม้สักชั้นดีจะถูกจัดให้เป็นที่พักอาศัยของพญา มหากษัตริย์ และเจ้าขุนมูลนายต่างๆ ชาวพื้นบ้านล้านนาเริ่มแพร่ขยายความนิยมสร้างบ้านด้วยไม้เนื้อแข็งโดยเฉพาะไม้สักก็เมื่อสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่ผ่านมา ที่มีชาวอังกฤษและพม่าที่เป็นพ่อค้าไม้ มาสัมปทานไม้ส่งออกไปต่างประเทศ และสร้างบ้านเรือนตนเองด้วยไม้สักและไม้เนื้อแข็งชนิดอื่นๆ ขึ้นมากมาย เศรษฐกิจและสังคมที่เริ่มเปลี่ยนแปลง ทำให้คติการใช้ไม้สักและไม้เนื้อแข็งสร้างบ้านของไพร่ไททั้งหลายจึงเปลี่ยนแปลงไป ความเชื่อที่ว่าไม่เหมาะสมและไม่เป็นมงคลจึงได้สูญหายไป ถือเป็นสิทธิของผู้มีกำลังเงินซื้อวัสดุไม้มาปลูกบ้านดังเช่น พ่อค้าและชาวต่างชาติที่เข้ามาในล้านนาทั้งหลาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น