อรัมภบท

หลังจากที่พัฒนาการสถาปัตยกรรมล้านนาได้ผ่านยุคมืดประมาณสองร้อยปีเมื่ออยู่ภายใต้อำนาจทางการเมืองของพม่า ความพยายามฟื้นบ้านฟื้นเมืองในสมัยพญากาวิละทำให้มีการซ่อมสร้าง ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมล้านนาเป็นอย่างมาก โชคดีที่ยังหลงเหลือหลักฐานทางโบราณคดี ศิลปสถาปัตยกรรมในยุคทองอยู่บ้าง และหลักฐานที่กำลังสูญหายไปของยุคต้นล้านนา การรวมล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยามพร้อมกันกับการรวมดินแดนภาคอีสาน อีสานใต้ และพื้นที่ส่วนปลายของภาคใต้ กอรปกับการปรับเปลี่ยนไปสู่ประเทศไทยภายใต้ระบอบเสรีประชาธิไตย ส่งผลให้มีการเปิดรับกระแสวัฒนธรรมจากภายนอกประเทศ การไหลบ่าของกระแสการพัฒนาแบบทุนนิยมเสรีจากฟากตะวันตก ส่งผลให้เกิดการค้าการลงทุนขนานใหญ่ เริ่มจากการถลุงทรัพยากรธรรมชาติ รูปแบบบริโภคนิยม ภายใต้อิทธิพลของการแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ส่วนตน การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจที่รวดเร็ว ส่งผลให้สังคมท้องถิ่นเปลี่ยนแปลงตามอย่างรวดเร็วเช่นกัน ศิลปวัฒนธรรมทั้งหลายสูญหายเสื่อมโทรม เพราะประชาชนท้องถิ่นให้ความสำคัญต่อการดิ้นรนในการยังชีพมาเป็นอันดับแรกมากกว่า ระบบความสัมพันธ์ของชุมชนและครอบครัวจำนวนมากมีปัญหา ระบบภูมิปัญญาของการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขและการรักษาองค์ความรู้ท้องถิ่นล้มเหลว และเกิดการอพยพของผู้คนและการสูญเสียอัตลักษณ์ชุมชนพื้นถิ่น ความพยายามในการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนยังอยู่ในแนวทางการนำทรัพยากรมาใช้ รวมทั้งการใช้สถานที่ธรรมชาติ โบราณสถาน และสถาปัตยกรรมดั้งเดิมเป็นทุน โดยยังขาดประสิทธิภาพการจัดการเพื่อการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของชุมชนสถาปัตยกรรมล้านนามีอุปสรรคด้านพัฒนาการ ระบบการถ่ายทอดภูมิปัญญาแบบดั้งเดิมถูกทำลาย ขณะที่นโยบายการศึกษาสมัยใหม่ไม่เห็นความสำคัญ ไม่เอาใสใจ่เร่งรัดการรวบรวมจัดเก็บองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมล้านนา รวมทั้งการวางแผนจัดกระบวนการวิจัย พัฒนา ถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่ทายาททางสังคมท้องถิ่นรุ่นใหม่อย่างเป็นรูปธรรม ท่ามกลางกระแสความนิยมการนำศิลปสถาปัตยกรรมล้านนามาเสพ ที่เริ่มเมื่อสี่สิบปีก่อนจนเข้มข้นเมื่อยี่สิบปีที่ผ่านมา มีการนำรูปแบบศิลปและสถาปัตยกรรมเก่ามาใช้ในบริบทใหม่ การลอกเลียนรูปลักษณ์ทางกายภาพและเน้นความรู้สึกด้านการบรรยากาศ โดยขาดภูมิความรู้ ความระมัดระวัง และการพัฒนาโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ อันจะเป็นกระบวนการทำลายมากกว่ากระบวนการพัฒนา ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าความพยายามสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมล้านนาในรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นแล้วจะไม่ประสบความสำเร็จหรือไร้ประโยชน์ เพราะภายใต้ความพยายามลองผิดลองถูกของการออกแบบก่อสร้างได้ทำให้เกิดการเรียนรู้หลายอย่าง เพียงแต่วิธีการและการพัฒนา ยังต้องอาศัยประสบการณ์และการรวบรวมองค์ความรู้ที่พัฒนาต่อช่วงและถ่ายทอด ซึ่งจะช่วยสร้างข้อสรุปและความลงตัวด้านประโยชน์ใช้สอยและสุนทรียภาพให้เกิดขึ้นภายใต้เอกลักษณ์แบบล้านนาเชิญชวนท่านทั้งหลายมาร่วมกันอนุรักษ์และพัฒนาสถาปัตยกรรมล้านนาของเราให้คงอยู่สืบไป อย่างน้อยให้หลักฐานที่คงอยู่ได้สะท้อนถึงความงดงามเยี่ยมยอดในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษล้านนา ที่สร้างสรรค์ขึ้นรับใช้ผู้คนและสังคม ซึ่งก่อร่างสานต่อกันมานับแต่โบราณ ถึงแม้นว่า อาณาจักรล้านนานั้นได้หลงเหลือแต่เพียงชื่อให้กล่าวอ้าง

หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ความสัมพันธ์ของสถาปัตยกรรมหริภุญชัยและสถาปัตยกรรมล้านนา

ความสัมพันธ์ของสถาปัตยกรรมหริภุญชัยและสถาปัตยกรรมล้านนา
หริภุญไชยเป็นแคว้นที่ขึ้นตรงต่อลวะปุระ (ละโว้) พระนางจามเทวีเป็นกษัตรีพระองค์แรก นำไพร่พลและศาสนา และศิลปวิทยาการต่างๆ เสด็จล่องแพมาทางลำน้ำปิง เมื่อเลยบริเวณสบทาขึ้นมาทางบริเวณด้านใต้ของเมืองที่วางผังสร้างเมืองรอไว้โดยฤาษีวาสุเทพแห่งอุชุปัตตา (ดอยสุเทพ) พระองค์เสด็จขึ้นฝั่งและตั้งค่ายอยู่ริมแม่น้ำกวงที่เป็นหมู่บ้านลัวะ (ละว้า) ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดกู่ลัวะมัก (รมณียาราม) ต.ต้นธง จ.ลำพูน พระนางก่อเจดีย์และสร้างวัดเป็นแห่งแรก ณ ที่นั่น ก่อนดำเนินการทำพิธีต้อนรับเข้าปกครองเมืองหริภุญชัยอย่างเป็นทางการของเหล่าไพร่พลและชาวลัวะพื้นเมืองหริภุญชัยมีพัฒนาการมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ มีศิลปวัฒนธรรมเจริญรุ่งเรืองสูงสุด ปรากฏหลักฐานในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ พญามังราย กษัตริย์หนุ่มเชื้อสายไทโยน (โยนก) แห่งราชวงศ์ลาว ที่มีลวจังกราชแห่งเมืองหิรัญนครเงินยางเป็นปฐมกษัตริย์ ณ ลุ่มน้ำกก หลังจากทรงสร้างเมืองเชียงรายและเมืองพร้าว พญามังรายได้เข้ายึดเมืองหริภุญชัยในสมัยพญายีบาปกครอง พ.ศ. ๑๘๓๖ และสร้างเวียงกุมกามคร่อมเมืองท่าเก่าริมแม่น้ำปิง ก่อนสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นเป็นราชธานีใหม่ ปราบดาภิเษกตั้งขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา ต้นราชวงศ์มังราย เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๙ ขณะนั้นแม้ว่าหริภุญไชยจะอยู่ภายใต้การปกครองของล้านนา แต่ยังคงความเป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนาและศิลปกรรมในที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง พญามังรายยอมรับเอาพระพุทธศาสนาจากหริภุญไชยมานับถือและทำนุบำรุงต่อเนื่อง (ขณะเดียวกันก็เริ่มสัมพันธไมตรีต่อสุโขทัยและภูกามยาว) มีการยอมรับรูปแบบของงานสถาปัตยกรรมหริภุญชัย มาสร้างเป็นสถาปัตยกรรมในยุคนั้น เช่น เจดีย์เหลี่ยมหรือกู่คำ ซึ่งพระองค์โปรดให้สร้างขึ้นที่ เวียงกุมกาม ก่อนจะเสด็จไปสร้างเมืองเชียงใหม่ รูปแบบของเจดีย์กู่คำมีต้นแบบมาจากเจดีย์กู่กุด วัดจามเทวี แม้ในสมัยต่อมายุคพระเจ้าแสนภู พระราชนัดดาพญามังราย ยังมีการสร้างเจดีย์ป่าสัก ที่เมืองเชียงแสน ที่ปรากฏอิทธิพลทางด้านรูปแบบมาจากเจดีย์เชียงยันที่ตั้งอยู่ในเมืองหริภุญชัย ผสมผสานกับศิลปเชียงแสนและพุกาม นอกจากนั้นยังมีรูปแบบเจดีย์แบบทรงพิเศษแบบฐานทรงกลมซ้อนชั้นลดหลั่นคล้ายทรงปราสาท ดังเช่น เจดีย์วัดพวกหงษ์ในเมืองเชียงใหม่ ที่พัฒนาสร้างสรรค์ปรับเปลี่ยนมาจากรูปแบบของเจดีย์กูกุดและเจดีย์คำ (สุวรรณโกฏ) ในเมืองหริภุญชัย ภายหลังเกิดรูปแบบของพัฒนาการเจดีย์ในล้านนาที่งดงามหลากหลาย จนเกิดรูปทรงเจดีย์ล้านนาในยุคทองที่งดงามลงตัวหลายแบบ เช่น เจดีย์ล้านนาทรงกลมบนฐานเหลี่ยมย่อมุมแบบที่วัดพระธาตุหริภุญชัย เจดีย์ทรงเหลี่ยมลดชั้นบนฐานเหลี่ยมย่อมุมแบบพระธาตุดอยสุเทพ และเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมที่วัดเจ็ดยอดในเมืองเชียงใหม่ เป็นต้น ศิลปกรรมพระพุทธรูปได้ส่งอิทธิพลถึงรูปแบบพระพุทธรูปของล้านนาด้วยเช่นกัน เช่น พระพุทธรูปทรงเครื่องแบบละโว้ (เช่น ที่ประดิษฐานในพิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุหริภุญชัย) พระพุทธรูปในรูปแบบพระเจ้าแข้งคม (เช่น ที่วัดศรีเกิด ในเมืองเชียงใหม่) เป็นต้น สิ่งสำคัญอีกประการที่เกิดขึ้นในยุคพญามังรายคือการประดิษอักษรล้านนาขึ้นใช้ โดยพัฒนามาจากอักษรมอญโบราณของหริภุญชัย (นิยมใช้จารลงใบลานและบันทึกลงปั๊บสา) ขณะเดียวกันมีการยอมรับอักษรขอมจากสุโขทัยมาใช้ร่วมด้วย (ใช้ในการจารึกหลักศิลา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น